ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งในยุคดิจิทัล เป็นความท้าทายของสังคมไทยที่ต้องปรับตัวและเท่าทันโลกยุคใหม่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้งบุคลากรทั้งองค์กรต่าง ๆ คงต้องเท่าทันความท้าทายเหล่านี้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในการที่จะร่วมสร้างคุณค่าแก่สังคม
ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญถึงความท้าทายในสังคมปัจจุบันนี้ และในวาระโอกาส ‘วันสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 65 ปี’ จึงจัดเสวนา ‘สิทธิและความเสมอภาค : ความท้าทายของสังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนผ่าน’ โดยวิทยาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ อาทิ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล ศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการเสวนา กล่าวว่า
“สังคมไทยมีพันธะหลายเรื่อง ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความด้อยโอกาส แต่จะทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำ ยิ่งนับวันจะมีคนรวยขึ้นอย่างที่ไม่สมควรจะรวย และมีคนจนลงอย่างไม่สมควรจะจน ดังนั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยเร่งทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น จนทำให้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือสิทธิในการมีชีวิต และสิทธิในการแสวงหาความสุขที่ทุกคนควรมีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นวาระของคณะมาตลอด
...ดังนั้น ‘สิทธิและความเสมอภาค’ เป็นขุมพลังเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ด้วยการพัฒนาคนและสังคมอย่างยั่งยืน ตามหลักความเป็นธรรมในสังคม เคารพสิทธิ ศักดิ์ศรี ความหลากหลายความแตกต่างของมนุษย์ รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชิ สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสมในการที่จะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สงเคราะห์สงเคราะห์จึงเป็นศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมช่วยกระตุ้นสังคม ให้มีสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือ ‘เสริมสร้างความเป็นธรรม เท่าทันการเปลี่ยนแปลง’
”สำหรับ ‘สิทธิและความเสมอภาค’ ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ เช่น กมลชนก บุญเกตุวัฒนากุล ประธานชมรมเยาวชนตาบอดของไทย, สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ รักษาการประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย, คัมภีร์ บัวติ๊บ ประธานคณะกรรมการ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิต ศูนย์ลำปาง, พิสิษฐ์พงษ์ ชูชมกลิ่น นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต, เจษฎา นันใจวงษ์ นักทัณฑวิทยา กระทรวงยุติธรรม, ชัยพร อุโฆษจันทร์ และ ผศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้ดำเนินรายการเสวนา
คนรุ่นใหม่ต่างสะท้อนมุมมองตามโลกที่เปลี่ยนไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ผู้หญิง-ผู้ชายมีปัจจัยไม่เท่าเทียมกัน ผู้หญิงมักจะเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย ทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเอาเปรียบอีกด้วย และสิทธิในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในเรื่องการตั้งครรภ์ โดยสามารถมีสิทธิเรียนหนังสือได้ตามกฎหมาย อีกทั้งสตรีที่มีฐานะยากจนทำให้ไม่มีการศึกษาต้องผันตัวเองเข้าสู่แรงงานทางเพศ เป็นต้น ดังนั้นอยากให้คนรุ่นใหม่ตื่นรู้ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง และปลูกจิตสำนึก พิทักษ์สิทธิของตนเอง เพื่อสู่สังคมความเท่าเทียม
นอกจากนี้ ภายในงานมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการ-รางวัลนักวิจัยดีเด่น รางวัลศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันดีเด่น และรางวัลบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2561 โดยงานนี้มีแขกผู้มีเกียรติ, ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมยินดีมากมาย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นี่คือความท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลง มาร่วมกันการสร้างความสำเร็จทั้งองค์กรและสังคมให้เข้มแข็ง ก้าวเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
COMMENTS