ทีมงานของวีแชต (Wechat) ในเครือบริษัทเทนเซ็นต์ (Tencent) เฉลิมฉลองวาระครบรอบ 3 ปีของ “วีแชตมินิโปรแกรม” ด้วยการเปิดเผยยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางดังกล่าวซึ่งพุ่งทะลุ 800,000 ล้านหยวน (ราว 3.6 ล้านล้านบาท)[1] ในปี 2019 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 160 เมื่อเทียบปีต่อปี ชี้ให้เห็นถึงมูลค่าทางธุรกิจอันมหาศาลของแพลตฟอร์มดังกล่าว
ถ้อยแถลงข้างต้นประกาศในงาน WeChat Open Class PRO 2020 ที่เมืองกว่างโจว ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาที่เทนเซ็นต์ได้เล่าถึงความสำเร็จทางธุรกิจและการยกระดับทางเทคโนโลยีต่างๆ ภายในอีโคซิสเต็มด้านไลฟ์สไตล์อัจฉริยะของแอปพลิเคชันวีแชต โดยมีหุ้นส่วนทางธุรกิจและนักพัฒนาแอปพลิเคชันจำนวนมากเข้าร่วม
มินิโปรแกรมของวีแชตเป็นฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการขององค์กรต่างๆ ผ่านทางวีแชตได้ทันที ซึ่งสร้างมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาลให้กับผู้ค้าและผู้ให้บริการ ฟีเจอร์นี้ริเริ่มโดยวีแชตเมื่อปี 2017 และมีผู้ใช้งานมากกว่า 300 ล้านคนต่อวัน นอกจากนี้ ในปี 2019 จำนวนเฉลี่ยของมินิโปรแกรมที่ถูกใช้ต่อ 1 บัญชีผู้ใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 98 และยอดการใช้งานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ส่วนในปี 2020 นี้ วีแชตมินิโปรแกรมจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอีโคซิสเต็มทางธุรกิจ และขยายขอบเขตความสามารถใหม่ ๆ ให้กับบรรดานักพัฒนาแอปฯ ซึ่งรวมถึงการสตรีมมิงแบบสด
รายงานเผย “พลังแห่ง QR Code”
วีแชตเปิดเผยรายงานการวิจัยฉบับแรกเกี่ยวกับการใช้งานคิวอาร์โค้ดและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของคิวอาร์โค้ด ภายใต้ชื่อ “The Power of the QR Code - The WeChat Economic Impact Report 2020” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าวีแชตกับคิวอาร์โค้ดมีส่วนช่วยอย่างไรในการเชื่อมต่อธุรกิจและสังคมเข้าด้วยกัน สำหรับภาคธุรกิจ การใช้คิวอาร์โค้ดในวีแชตช่วยเพิ่มจำนวนจุดที่ลูกค้าจะสามารถเข้าถึงบริการ (touchpoint) ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจอย่างมหาศาล นอกจากนี้ มินิโปรแกรมยังบุกเบิกหนทางใหม่ๆ ให้กับการทำธุรกิจ ช่วยบ่มเพาะอีโคซิสเต็มและวัฒนธรรมธุรกิจสตาร์ตอัปในประเทศจีน ช่วยลดค่าใช้จ่ายและช่วยพัฒนาศักยภาพในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ปัจจุบันร้อยละ 79.4 ของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในประเทศจีนล้วนเป็นผู้ใช้วีแชต เพย์ (WeChat Pay) ขณะเดียวกันยังมีรายงานว่าวีแชตสร้างตำแหน่งงานถึง 26.1 ล้านอัตราทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
วีแชต เพย์ ยังคงเติบโตในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันบริการใช้จ่ายข้ามพรมแดนของวีแชตสามารถใช้งานได้ในตลาดต่างประเทศมากกว่า 60 แห่งทั่วโลก
วีแชต เวิร์ก (WeChat Work) ผลิตภัณฑ์ของวีแชตที่สร้างมาเพื่อการสื่อสารในที่ทำงานโดยเฉพาะ ยังได้เปิดตัวเวอร์ชัน 3.0 ซึ่งจะมาช่วยยกระดับการเชื่อมต่อกับแอปฯ วีแชต และเปิดตัวเครื่องมืออื่นๆ ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพขององค์กร โดยปัจจุบันมีองค์กรที่ใช้งานวีแชต เวิร์ก มากกว่า 2.5 ล้าน และมีผู้ใช้อยู่ที่ 60 ล้านคนต่อเดือน
มร. อัลเลน จาง (Allen Zhang) ผู้ก่อตั้งวีแชต ระบุถึงมุมมองที่เขามีต่อผลกระทบของเทคโนโลยีในวงกว้าง และกล่าวถึงความคิดที่เขามีต่อพัฒนาการของวีแชตในอนาคตว่า “ที่วีแชต เราเคยให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบของทุกฟีเจอร์ที่เราปล่อยออกไป แต่วันนี้เราหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกและอุทิศความทุ่มเทของเราให้กับการสร้างสรรค์คุณประโยชน์สำหรับผู้ใช้และผู้บริโภคได้” มร. จางกล่าวกับบรรดานักพัฒนาผ่านวิดีโอในที่ประชุม
“การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราทุกคนต่างอยู่บนโลกออนไลน์กันตลอดเวลา ได้รับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากและเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญมากมาย” เขาเสริม “เรามีหน้าที่ต้องสำรวจประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดใหม่ รวมทั้งรับมือกับความท้าทายที่วีแชตและอุตสาหกรรมนี้กำลังเผชิญ ด้วยความทุ่มเทของเราและการร่วมมืออย่างเปิดกว้างกับพันธมิตรและคู่แข่งทุกฝ่ายในแวดวงนี้”
ภายในงานได้มีการจัดแสดงเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยวีแชต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์และทดสอบการใช้เทคโนโลยีและโซลูชันต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
มร. แอนกัส ตู โฆษกของวีแชตโอเพนคลาส (WeChat Open Class Speaker) ให้ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสำเร็จของวีแชตมินิโปรแกรม
งาน WeChat Open Class PRO 2020 ณ เมืองกว่างโจว ซึ่งเป็นงานประชุมสัมมนาที่เทนเซ็นต์ได้เล่าถึงความสำเร็จทางธุรกิจและการยกระดับทางเทคโนโลยีต่างๆ ภายในอีโคซิสเต็มด้านไลฟ์สไตล์อัจฉริยะของแอปพลิเคชันวีแชต โดยมีหุ้นส่วนทางธุรกิจและนักพัฒนาแอปพลิเคชันจำนวนมากเข้าร่วม
วีแชตฉลองครบรอบ 3 ปีของ “วีแชตมินิโปรแกรม” ด้วยการเปิดเผยยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งพุ่งทะลุ 800,000 ล้านหยวน (ราว 3.6 ล้านล้านบาท)[2] ในปี 2019 ที่ผ่านมา
[1] อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 29 มกราคม 2563 โดยมีอัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 4.49 บาท
[2] อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 29 มกราคม 2563 โดยมีอัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 4.49 บาท
COMMENTS