คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับมาตรฐานสากล และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตระดับโลก ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ภายใต้ “โครงการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Med Tech Co-innovation)” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ทางวิชาการ และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน สู่ความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ พร้อมยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare Experience)
โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญดังนี้:
· สร้างประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ให้กับผู้ใช้บริการ และบุคลากรการแพทย์ในรูปแบบโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital Hospital User Experience) โดยมีการพัฒนาในสองระบบคือ:
a. ระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Drug & Medical Equipment Tracking System): สร้างระบบจัดสรรข้อมูลด้านลอจิสติกส์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลและติดตามสถานะของยาและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และสถานบริการเครือข่าย 13 แห่งในแต่ละวันแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบสถานะข้อมูลการเดินทางของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชิ้นได้อย่างแม่นยำ ทำให้บริหารจัดการงบประมาณ คลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
b. ระบบติดตามสถานะการให้บริการทางการแพทย์ (Medical Service Status Tracking System): ผู้ป่วยสามารถเรียกดูข้อมูลสถานะการให้บริการผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย และโมบายแอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาล โดยทราบสถานะการให้บริการ คิวตรวจ รับยา จ่ายเงิน และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele-consulting) เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล และระบบนำทางในโรงพยาบาลที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับบริการที่จุดให้บริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น
· เร่งการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Acceleration) เพื่อการพัฒนาสาธารณสุขอย่างยั่งยืน ผ่านสามโครงการดังนี้:
a. โครงการพัฒนาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis Screening Project): เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ดียิ่งขึ้นผ่านระบบการคัดกรองผู้ป่วยโดยการใช้ AI และ Deep Learning ที่มาช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ทรวงอกเบื้องต้น ซึ่งแพทย์สามารถเข้าถึงภาพเอกซเรย์ความละเอียดสูง และขอคำปรึกษาทางไกลในการแปลผลภาพรังสีทรวงอกกับรังสีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx ทำให้เกิดความรวดเร็วและความแม่นยำในการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาในการวินิจฉัย และให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคตั้งแต่ระยะแรก ลดค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่จำเป็น และแก้ปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นห่างไกลได้
b. โครงการดูแลผู้ป่วยประคับประคองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล Tele Palliative Care:
สร้างห้องตรวจและห้องรักษาเสมือนจริง เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยประคับประคอง และผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล พยาบาลผู้เชี่ยวชาญพร้อมอุปกรณ์ Mobile Med Device จะเดินทางไปหาผู้ป่วยถึงบ้านเพื่อตรวจสุขภาพ ส่งข้อมูลและสื่อสารทางไกลกับแพทย์ผู้ให้การรักษาแบบเรียลไทม์ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัย พิจารณาให้ยาอย่างเหมาะสมผ่านระบบ Tele-consulting บนแพลตฟอร์ม Cisco WebEx เสมือนได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และครบวงจรเทียบเท่ากับการมาโรงพยาบาล
c. โครงการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานโดยเจ้าหน้าที่ อสม. (Diabetes Patient Data & Communication Project): ยกระดับความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานอย่างถูกต้อง ผ่านการอบรมทางไกล และนำประสบการณ์ไปดูแลผู้ป่วยและรายงานความคืบหน้าผลการรักษาผ่าน Cisco Webex ซึ่งเป็น Smart Learning Platform และ Education Connector และระบบให้คำปรึกษาผ่าน Online learning system เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ทำให้ลดความแออัดในการที่จะต้องเดินทางเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล
ความร่วมมือนี้มุ่งพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ครอบคลุมบริการของโรงพยาบาลทั้งหมด เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ รวมถึงเป็นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดทางด้านการแพทย์ในอนาคต โดยทางซิสโก้มีการสนับสนุนโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน (Network Infrastructure), เทคโนโลยีที่ใช้ในการวิเคราห์ข้อมูล (Data Analytics), เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI), แมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML), ไอโอที (IoT), เทคโนโลยีเซนเซอร์ (Sensor Technologies) และเทคโนโลยี SDN (Software-Defined Networking)
ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีด้านบริการทางการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมาก จากสำรวจของ Global Market Insights[1] ชี้ให้เห็นว่ามีการใช้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น มูลค่าตลาดโลกในส่วนของการให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ (Telemedicine) มีมูลค่าถึง 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 19.3
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำระดับมาตรฐานสากล และด้วยพันธกิจที่ต้องสร้างสรรค์งานวิจัย และการบริการสุขภาพมาตรฐานระดับสากล ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ฯ และซิสโก้ที่จะได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในอนาคต”
จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับซิสโก้ที่ผ่านมา เรามีความมั่นใจทั้งในส่วนขององค์ความรู้ เทคโนโลยีที่ทันสมัย โซลูชั่นในการให้บริการทางการแพทย์ที่หลากหลาย และพร้อมสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ฯ ในการยกระดับประสบการณ์ดิจิทัลเฮลท์แคร์ (Digital Healthcare Experience) เพื่อบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบบูรณาการในอนาคต”
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า “ดิจิทัลเฮลท์แคร์เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแพทย์ และการให้บริการด้านสาธารณสุข จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในประเทศ
ซิสโก้ทำงานร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกด้วยการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดูแลสุขภาพทางไกล (Telehealth) และโซลูชันนวัตกรรมอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน รวมถึงโมบิลิตี้ ความปลอดภัยและดาต้าเซ็นเตอร์ ซิสโก้มีความยินดีที่ยังคงได้รับความไว้วางใจจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สานต่อความร่วมมืออีกขั้นในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขครั้งนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการดิจิทัลทางการแพทย์แบบครบวงจร ซิสโก้มีความยินดีในการนำเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งสู่การเป็นให้เป็นโรงเรียนแพทย์ดิจิทัลแห่งอนาคตอย่างแท้จริง”
[1] Telemedicine Market Size: https://www.gminsights.com/industry-analysis/telemedicine-market
COMMENTS