นูทานิคซ์ ผู้นำด้านเอ็นเตอร์ไพรส์คลาวด์คอมพิวติ้ง ประกาศความร่วมมือกับบริษัท ซีเนียร์ คอม จำกัด ผู้ให้บริการด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพในประเทศไทย ที่มีความเชี่ยวชาญในสองกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมการเงิน
อุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายทั้งด้านพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อช่วยจัดการความท้าทายเหล่านี้ ซีเนียร์ คอมได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ‘H-Meter 2020’ บนโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบไฮเปอร์คอนเวิร์จ (Hyperconverged Infrastructure: HCI) ของนูทานิคซ์ ซึ่งบริหารจัดการด้วยซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการอะโครโพลิสของ นูทานิคซ์ (Acropolis Operating System: AOS) ที่ช่วยให้กระจายการทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพื่อมุ่งมั่นปลดล็อกศักยภาพให้กับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเงินให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลได้เร็วขึ้น
นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ กล่าวว่า “เพื่อความสำเร็จในการต่อกรกับกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น กฎระเบียบ และการแข่งขันกับฟินเทค องค์กรจำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ยืดหยุ่น คล่องตัว สามารถรองรับแอปพลิเคชั่นและซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ๆ ซึ่งมีบทบาทและมีศักยภาพในการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อดึงข้อมูลเชิงลึกมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่ระบบและโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบดั้งเดิม และฮาร์ดแวร์ที่ใช้มานานขาดความคล่องตัว ไม่ยืดหยุ่นในการรองรับแอปพลิเคชั่นรุ่นใหม่ ๆ และไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”
H-Meter 2020 ได้รับการพัฒนาเพื่อลูกค้ากลุ่มธุรกิจเช่าซื้อและสินเชื่อส่วนบุคคล แอปพลิเคชั่นนี้มีฟังก์ชั่นหลักที่ครอบคลุมการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบและทำงานอย่างสอดคล้องกัน มีแดชบอร์ดที่รวบรวมข้อมูลและผลสรุปสำคัญไว้ให้ผู้บริหารและผู้ใช้งานนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถลดเวลาในการประมวลผลเอกสารเพื่อตัดยอดในแต่ละวันเหลือเพียง 20 นาทีจากเดิมที่ต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง มีลูกค้าที่นำแอปพลิเคชั่นนี้ไปใช้แล้ว คือ ศรีสวัสดิ์ และ T-Leasing ของธนาคารธนชาต
นายสมเกียรติ อึงอารี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเนียร์ คอม จำกัด กล่าวว่า “เราตระหนักดีว่าแอปพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ในปัจจุบันต้องเฉียบคม เก่ง ฉลาด ทำงานได้อย่างครบวงจร เมื่อเราพัฒนา H-Meter 2020 สิ่งที่เราคำนึงถึงอย่างมาก คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยรวมถึงแพลตฟอร์มคลาวด์มาใช้ ต้องมีฟังก์ชั่นที่เชื่อมต่อการทำงานระหว่างระบบของลูกค้าของเรากับพาร์ทเนอร์หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ และต้องรองรับกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (International Financial Reporting Standard: IFRS9) นูทานิคซ์ช่วยให้เราพัฒนาแอปพลิเคชั่นทรงประสิทธิภาพนี้ได้ด้วยพลังการประมวลผลที่รวดเร็ว เสถียร แทบจะไม่มีการขัดข้องของระบบ (Downtime) เลย”
นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ กล่าวเสริมว่า “นูทานิคซ์รู้สึกยินดีที่ได้รับความไว้วางใจและผสานรวมประสิทธิภาพที่ล้ำหน้าของเทคโนโลยีไฮเปอร์คอนเวิร์จ กับซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยของซีเนียร์ คอม เรามั่นใจว่าด้วยความแข็งแกร่งของ HCI และระบบปฏิบัติการ AOS ที่เรียบง่าย คล่องตัว รวมถึงความสามารถของซอฟต์แวร์ปริซึ่ม (Prism) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการได้ในหน้าจอเดียวเพียงคลิกเดียว จะช่วยให้โซลูชั่นของซีเนียร์ คอม ที่ทำงานอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานของนูทานิคซ์ สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่ยุ่งยาก”
“ไฮเปอร์คอนเวิร์จ เป็นโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่รวมสตอเรจ เซิร์ฟเวอร์ (หน่วยประมวลผล) เน็ตเวิร์ก และเวอร์ชวลไลเซชั่นไว้เป็นโซลูชั่นหนึ่งเดียว ทำให้สามารถทำงานและประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ใช้งานง่าย ปรับขนาดการทำงานได้ตามต้องการ มีความปลอดภัย และสามารถซื้อเท่าที่ต้องการใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุนล่วงหน้า ควบคุมการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการอะโครโพลิส (AOS) และบริหารจัดการด้วยซอฟต์แวร์ปริซึ่ม (Prism) ของนูทานิคซ์ ซึ่งช่วยให้สามารถมองเห็นสภาพความเป็นไปของระบบได้จากจุดเดียว และรองรับการใช้งานกับคลาวด์ทุกระบบไม่ว่าจะเป็นไพรเวท พับลิค ดิสทริบิ้วเต็ด หรือเอดจ์”
นายสมเกียรติ กล่าวสรุปว่า “ความพึงพอใจของลูกค้าคือสิ่งสำคัญต่อการเติบโตของบริษัท ซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาต้องมอบประสบการณ์การใช้งานที่เหมาะสม และสอดคล้องกับนวัตกรรมทางการเงินในปัจจุบันให้กับลูกค้า เราให้ความสำคัญกับการออกแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ (Software Architecture) เรามั่นใจว่าความสามารถในการพัฒนาระบบ และวิสัยทัศน์ในการเลือกใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่เหมาะสม เช่น ความร่วมมือกับนูทานิคซ์ในครั้งนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงให้เรายืนหยัดมอบนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าของเรา”
การ์ทเนอร์ (เดือนตุลาคม 2563) ได้คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ทั่วโลกว่าจะเป็นตลาดที่เติบโตได้แข็งแกร่งที่สุดในปี 2564 โดยจะเติบโตขึ้น 7.2% คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายที่ 492,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ พยายามปรับเปลี่ยนระบบเป็นดิจิทัล เพื่อรองรับการทำงานจากระยะไกล และให้บริการแบบเวอร์ชวล เช่น การเรียนทางไกล เทเลเฮลท์ และการใช้ประโยชน์จากระบบอัตโนมัติ สำหรับประเทศไทย คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ระดับเอ็นเตอร์ไพรส์จะเติบโตมากที่สุดเช่นกัน โดยในปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 13.8% คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายที่ 46,317 ล้านบาท
COMMENTS