ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย สรุปภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 และแนะแนวโน้มปี 2564 เผยเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของตลาดอสังหาริมทรัพย์จากหลายปัจจัย ทำให้ตลาดไม่เติบโตเท่าที่ควร ทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อบ้านนานขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ผู้บริโภคถึง 75% ชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน
จากการชะลอตัวของตลาดทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้แคมเปญการตลาด ราคา และโปรโมชันต่าง ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมลดต่ำลง แต่เป็นการเร่งการตัดสินใจจากผู้ซื้อที่เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์หรือผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงที่มีความต้องการซื้อมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ ส่วนกลุ่มดีมานด์ใหม่ยังคงชะลอตัวเนื่องจากส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจกับสภาพเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง
คอนโดมิเนียมยังคงเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนมากที่สุด ขณะที่แนวโน้มโครงการใหม่เริ่มเป็นสินค้าประเภทแนวราบมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค หลังจากที่ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านนานขึ้นในช่วงล็อกดาวน์จึงเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่มากขึ้น
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยคาดว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วเมื่อตอนที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเมืองไทยจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ และกิจกรรมทางธุรกิจหยุดชะงัก สำหรับแนวโน้มของตลาดในปี 2564 จะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างเข้มข้นของผู้ประกอบการที่แข่งกันลดราคา รวมไปถึงออกโปรโมชั่นแรง ๆ เพื่อจูงใจผู้ซื้อ ส่วนจำนวนโครงการเปิดใหม่นั้นคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับปี 2563”
“ปี 2564 ถือเป็นปีปรับสมดุลของตลาดอสังหาฯ ทั้งในแง่ของราคาและอุปทาน (จำนวนที่อยู่อาศัย) โดยในส่วนของราคานั้นเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2563 และคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 อย่างไรก็ดี แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดอสังหาฯ นั้นจะขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญ ๆ ได้แก่ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเมือง รวมถึงการมีมาตรการจากภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ หรือให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น” นางกมลภัทร กล่าวสรุป
อ่านและศึกษาข้อมูลภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ DDproperty Thailand Property Market Outlook 2564 ได้ที่ https://www.ddproperty.com/คู่มือซื้อขาย/thailand-property-market-outlook-37841
ข้อมูลที่น่าสนใจในแวดวงอสังหาฯ จากงานแถลงข่าว
• มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้กลุ่มนักลงทุนหายไปจากตลาด
• ผลพวงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากระมัดระวังในการใช้เงิน และลดการใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงด้านที่อยู่อาศัย
• ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ แต่เน้นระบายสต็อกคงค้าง โดยใช้กลยุทธ์ราคาและโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นการซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ ทำให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในภาพรวมปรับตัวลดลงอย่างมากจากรอบปีก่อน
• พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) รวมถึงการใช้ชีวิตที่ต้องอยู่ติดบ้านมากขึ้น จากการที่ต้องทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) จึงมีความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มขึ้น และเป็นสัดส่วนมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เติบโตทั้งอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply)
• ทำเลจะไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในตัวเมืองเท่านั้น แต่กระจายสู่พื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น โครงการแนวราบสามารถทำราคาที่คนส่วนใหญ่เอื้อมถึงได้ ประกอบกับการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว และส่วนต่อขยายสายสีต่าง ๆ ทำให้การเดินทางเข้า-ออกเมือง หรือเชื่อมต่อใจกลางเมืองสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
• แม้เศรษฐกิจไทยมี GDP ติดลบต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังต้องเฝ้าระวัง จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ แต่ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ไม่สูงมากนักและอัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ปี 2563 เป็นโอกาสทองของผู้ซื้อที่มีความพร้อม
แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564
แนวโน้มราคาที่อยู่อาศัย (Pricing)
ราคาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และผลจากมาตรการ LTV ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากนัก ก่อนจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 (Q4 2562) ซึ่งอยู่ที่ 207 จุด ก่อนจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากประกาศคลายล็อกดาวน์ โดยเพิ่มขึ้น 2% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส (นับจากช่วง Q1 2562) แต่ยังถือว่าดัชนีราคาลดลงถึง 9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ทำเลที่ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบปี 2563
ภาพรวมทำเลในกรุงเทพฯ ที่ราคาที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
• แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ราคาเพิ่มขึ้นถึง 63% จากรอบปีก่อนหน้า
• แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน (บริเวณศูนย์การค้าไอคอนสยาม) เพิ่มขึ้น 14%
• แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เพิ่มขึ้น 10%
• แขวงสี่พระยา เขตบางรัก เพิ่มขึ้น 9% และ
• แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน เพิ่มขึ้น 9%
หากโฟกัสไปที่ประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า 5 ทำเลที่มีราคาคอนโดมิเนียมเติบโตมากที่สุด คือ
• แขวงบางไผ่ เขตบางแค เพิ่มขึ้น 42%
• แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน เพิ่มขึ้น 15%
• แขวงสี่พระยา เขตบางรัก เพิ่มขึ้น 10%
• แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน เพิ่มขึ้น 14% และ
• แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เพิ่มขึ้น 10%
ส่วน 5 ทำเลที่มีราคาบ้านเดี่ยวเติบโตมากที่สุด คือ
• แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย เพิ่มขึ้น 21%
• แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ เพิ่มขึ้น 18%
• แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง เพิ่มขึ้น 18%
• แขวงบางจาก เขตภาษีเจริญ เพิ่มขึ้น 17% และ
• แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน เพิ่มขึ้น 15%
สำหรับ 5 ทำเลที่มีราคาทาวน์เฮ้าส์เติบโตมากที่สุด คือ
• แขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก เพิ่มขึ้น 41%
• แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก เพิ่มขึ้น 24%
• แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา เพิ่มขึ้น 21%
• แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง เพิ่มขึ้น 19% และ
• แขวงบางไผ่ เขตบางแค เพิ่มขึ้น 15%
“แม้ว่าทำเลที่ราคาคอนโดฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ หรือ CBD แต่โดยรวม เมื่อพิจารณาในที่อยู่อาศัยทุก ๆ ประเภทแล้ว จะพบว่าทำเลที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่รอบนอก CBD และชานเมือง” นางกมลภัทร กล่าว
แนวโน้มด้านอุปทาน (Supply) ในกรุงเทพฯ
จำนวนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลง จากการที่ผู้ประกอบการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ หันไปเน้นระบายสต็อกคงค้าง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ผู้ขายส่วนหนึ่งไม่ปล่อยขายในช่วง “สงครามราคารุนแรง” รอดูสถานการณ์และปล่อยขายภายหลังเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า
ตั้งแต่ Q4 2562 เป็นต้นมา จำนวนอุปทานลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 336 จุด ต่อเนื่องมาถึง Q2 ที่ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 313 จุด ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ใน Q3 2563 มาอยู่ที่ 385 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึง 23% และเพิ่มขึ้น 5% ของปีก่อนหน้า สะท้อนความต้องการขายหลังจากหยุดชะงักไปในช่วงล็อกดาวน์ และแสดงถึงจำนวนอุปทานคงค้างที่เหลืออยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก
โดย 5 ทำเลที่จำนวนที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มมากขึ้นที่สุดในรอบปี ได้แก่
• แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง เพิ่มขึ้น 47%
• แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน เพิ่มขึ้น 23%
• แขวงคลองตัน เขตคลองเตย เพิ่มขึ้น 22%
• แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา เพิ่มขึ้น 13% และ
• แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้น 11%
หากแยกเป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์ พบว่า
• จำนวนคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี คือ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง เพิ่มขึ้น 42%
• บ้านเดี่ยว คือ แขวงบางนา เขตบางนา เพิ่มขึ้นถึง 233%
• และทาวน์เฮ้าส์ คือ แขวงบางจาก เขตพระโขนง เพิ่มขึ้น 78%
เมื่อแบ่งตามระดับราคาจะพบว่าระดับราคาที่มีอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ
• ระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%
• รองลงมาคือ ระดับราคา 1-3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29%
• ส่วนระดับราคา 5-10 ล้านบาท ลดลง 7% และ
• ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ลดลง 3%
“ที่อยู่อาศัยระดับราคาต่ำกว่าล้านในปัจจุบันถือเป็นเซ็กเมนต์ที่มีความกดดัน เนื่องจากมีอุปทานอยู่ในตลาดอยู่ค่อนข้างมาก ในขณะที่กำลังซื้อได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างมาก แม้จะมีมาตรการลดค่าโอนฯ ค่าจดจำนองของบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านออกมาก็ตาม ในขณะที่อุปทานของเซ็กเมนต์ 1-3 ล้าน แม้จะมีอยู่ค่อนข้างเยอะ (+29%) แต่ดีมานด์ในเซ็กเมนต์นี้ยังคงเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนหน้า ตามมาด้วยเซ็กเมนต์ 3-5 ล้าน (+12%) และ 5-10 ล้าน (+3%) ตามลำดับ” นางกมลภัทร กล่าว
คอนโดมิเนียมยังคงมีสัดส่วนมากที่สุดอยู่ที่ 88% ของอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมด ส่วนบ้านเดี่ยวอยู่ที่ 7% และทาวน์เฮ้าส์อยู่ที่ 5%
เมื่อดูสัดส่วนตามกลุ่มประเภทของอสังหาริมทรัพย์และระดับราคาจะเห็นว่าในกลุ่มของคอนโดมิเนียม
• ระดับราคา 5-10 ล้านบาท จะมีสัดส่วนถึง 31%
• รองลงมา คือ ระดับราคา 3-5 ล้านบาท อยู่ที่ 21%
เช่นเดียวกับในกลุ่มบ้านเดี่ยว
• ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท ถึง 30%
• รองลงมา คือ ระดับราคา 3-5 ล้านบาท อยู่ที่ 14%
สำหรับกลุ่มทาวน์เฮ้าส์
• ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท ถึง 34%
• รองลงมา คือ ระดับราคา 3-5 ล้านบาท อยู่ที่ 28%
แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564 เขตปริมณฑล
3 จังหวัดปริมณฑลแนวรถไฟฟ้า ราคาเพิ่มขึ้น
“ราคาที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัดปริมณฑลส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 1-3 ล้านบาท โดยคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ส่วนใหญ่มีระดับราคาใกล้เคียงกันคือ 1-3 ล้านบาท และบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 5-10 ล้านบาท ทำให้คอนโดมิเนียมอาจขายได้ยากขึ้น เนื่องจากราคาใกล้เคียงกับทาวน์เฮ้าส์” นางกมลภัทร กล่าว
นนทบุรี
รถไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนนทบุรีมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลให้มีปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยตามมา ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า และแหล่งงาน เมื่อพิจารณาการเติบโตของทำเลแนวรถไฟฟ้าจะพบว่า บริเวณตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง มีการปรับตัวของราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในรอบปี 13% จากอานิสงส์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง อีกหนึ่งทำเลที่มีแนวโน้มเติบโตคือบริเวณตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย เพิ่มขึ้น 16% เติบโตจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน และแยกเป็นประเภทที่อยู่อาศัยพบว่าทำเลที่มีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มมากที่สุดในรอบปี ได้แก่
• บริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วง MRT กระทรวงสาธารณสุข เพิ่มขึ้น 6%
• บริเวณ MRT ตลาดบางใหญ่ และ MRT สามแยกบางใหญ่ เพิ่มขึ้น 4% และ
• บริเวณสถานีแยกปากเกร็ด รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี เพิ่มขึ้น 3%
ทางด้านจำนวนอุปทาน พบว่า ทำเลที่มีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่
• ตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง เพิ่มขึ้น 87%
• ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง เพิ่มขึ้น 41%
จำนวนอุปทานคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ในตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ (บริเวณ MRT ตลาดบางใหญ่ และ MRT สามแยกบางใหญ่) เพิ่มขึ้น 52% บ้านเดี่ยวอยู่ในตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด เพิ่มขึ้นถึง 107% และทาวน์เฮ้าส์อยู่ในตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง เพิ่มขึ้น 103%
สมุทรปราการ
สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่ได้อานิสงส์จากโครงการรถไฟฟ้าทั้งสายสีเขียว รวมถึงรถไฟฟ้าสายใหม่อย่างสายสีเหลือง ที่คาดว่าจะเปิดในปี 2564 ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อาทิ ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ (บริเวณสถานี BTS แพรกษา, BTS สายลวด, BTS เคหะฯ) ราคาเพิ่มขึ้น 21% เมื่อพิจารณาตามประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ทำเลที่มีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มมากที่สุดในรอบปี ล้วนอยู่ในอำเภอเมืองสมุทรปราการที่แนวรถไฟฟ้าทั้งสิ้น ได้แก่
• ตำบลปากน้ำ (บริเวณ BTS ปากน้ำ) เพิ่มขึ้น 11%
• ตำบลท้ายบ้านใหม่ เพิ่มขึ้น 8% และ
• ตำบลเทพารักษ์ (บริเวณ BTS สำโรง, BTS ทิพวัล, BTS ศรีเทพา) เพิ่มขึ้น 6%
ส่วนบ้านเดี่ยว ได้แก่ ตำบลบางจาก อำเภอพระประแดง เพิ่มขึ้น 43% และทาวน์เฮ้าส์อยู่ในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เพิ่มขึ้น 27%
ทางด้านจำนวนอุปทาน พบว่า ทำเลที่มีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่
• ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ เพิ่มขึ้น 58%
• ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 57%
• ตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี เพิ่มขึ้น 44%
• ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี เพิ่มขึ้น 30% และ
• ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เพิ่มขึ้น 23%
ปทุมธานี
ปทุมธานีอีกหนึ่งจังหวัดที่มีปัจจัยเอื้อต่อการอยู่อาศัยหลายด้าน ไม่ว่าจะโครงการพัฒนาของภาคเอกชน อาทิ โครงการของภาคเอกชนอย่างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ต่าง ๆ และโครงการพัฒนาของภาครัฐ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และส่วนต่อขยาย คูคต-วงแหวนรอบนอก
ทำเลที่มีราคาที่อยู่อาศัยเติบโตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย คูคต-วงแหวนรอบนอก ได้แก่
• ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 18% และ
• ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 16%
เมื่อโฟกัสที่ประเภทของที่อยู่อาศัย พบว่า ทำเลที่มีราคาคอนโดมิเนียมเพิ่มมากที่สุดในรอบปีอยู่ในทำเลแนวรถไฟฟ้า ทำเลใกล้สถานศึกษา ได้แก่
• ตำบลบางยี่โถ อำเภอธัญบุรี (ใกล้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี-ดรีมเวิลด์) เพิ่มขึ้น 17%
• ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี (ใกล้มหาวิทยาลัยรังสิต) เพิ่มขึ้น 13%
• รวมถึงทำเลใกล้รถไฟฟ้า ได้แก่ ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 14% และ
• ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 3%
ทางด้านจำนวนอุปทานพบว่าทำเลที่มีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี ได้แก่
• ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 42%
• ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 26% และ
• ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 25%
โดยคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ในตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา มีจำนวนเพิ่มขึ้นในรอบปีถึง 49% บ้านเดี่ยวส่วนใหญ่อยู่ในตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา เพิ่มขึ้น 38% ส่วนทาวน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่อยู่ในตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง เพิ่มขึ้น 21%
แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2564
พฤติกรรมผู้บริโภค
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคอย่างมาก จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ DDproperty's Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดพบว่า:
• ผู้บริโภคถึง 75% ชะลอการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์
• 32% มองว่าราคาที่อยู่อาศัยมีความไม่แน่นอน
• 31% เชื่อว่าการขอสินเชื่อบ้านยากขึ้นหรือใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ
• 24% หันมาให้ความสนใจกับที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความสะอาด
• 20% ให้ความเห็นว่าเข้าไปดูโครงการที่สนใจยากขึ้น
ขณะที่ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคใช้พิจารณาเลือกที่อยู่อาศัย นอกจากปัจจัยด้านราคา รายละเอียดสินเชื่อและทำเล ผลสำรวจยังได้สะท้อนให้เห็นปัจจัยใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องรูปแบบโครงการที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ซึ่งต้องตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตที่มีการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น
• ผู้บริโภคถึง 82% ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม
• 65% ให้ความสำคัญกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ต้องเสถียร
• 64% ให้ความสำคัญกับฟังก์ชันในบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวก
• 50% ให้ความสำคัญกับระบบระบายอากาศและความร้อน รวมถึงระบบประหยัดพลังงานอัจฉริยะ และ
• 43% ให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
หากโฟกัสไปที่แต่ละช่วงวัย มีความต้องการที่ตอบโจทย์แตกต่างกัน
• กลุ่มวัยเริ่มต้น อายุ 22-29 ปี ให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยถึง 51%
• กลุ่มวัยทำงาน อายุ 30-49 ปี ให้ความสำคัญกับขนาดของที่อยู่อาศัยถึง 55%
• กลุ่มวัยใกล้เกษียณ อายุ 50-59 ปี ให้ความสำคัญกับส่วนกลางภายในโครงการถึง 53%
• ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ให้ความสำคัญที่ขนาดของที่อยู่อาศัยและส่วนกลางภายในโครงการถึง 53%
สอดคล้องกับข้อมูลความสนใจซื้อในรอบปีของผู้บริโภคที่พบว่า:
• บ้านเดี่ยว ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นถึง 30%
• รองลงมาเป็นทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 10%
• ส่วนคอนโดมิเนียม ลดลง 2%
ด้านทำเลที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ยังคงเป็นทำเลในกรุงเทพฯ แต่เริ่มมีสัญญาณการกระจายตัวสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้น จากการขยายตัวของเมือง เชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่เพิ่มมากขึ้น โดย 46% ให้ความสนใจทำเลกรุงเทพฯ รอบนอก สอดคล้องกับข้อมูลความสนใจซื้อที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี 5 อันดับแรกในกรุงเทพฯ ที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่
• เขตมีนบุรี เพิ่มขึ้น 74%
• เขตภาษีเจริญ เพิ่มขึ้น 61%
• เขตสายไหม เพิ่มขึ้น 58%
• เขตบางแค เพิ่มขึ้น 58%
• เขตจตุจักร เพิ่มขึ้น 38%
ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดหวังให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับการซื้อที่อยู่อาศัย โดยมีถึง 79% ที่ต้องการให้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่ม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
ภาพรวมเศรษฐกิจ
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่คึกคักเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดย กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะช่วยเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้อัตราดอกเบี้ยบ้านต่ำลงด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2564 ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องเผชิญรอบด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คิด ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง
COMMENTS