แม้ภาครัฐในหลายประเทศแถบอาเซียนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อหวังฟื้นความเชื่อมั่นและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศของตนให้กลับมา แต่แน่นอนว่าอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ ในตอนนี้ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในการใช้จ่ายมากพอ ข้อมูลจากรายงาน “Global Economic Prospects” ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก เผยแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในระยะสั้นยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าการฟื้นตัวจะไม่สม่ำเสมอและเปราะบาง ในขณะที่ความเสี่ยงด้านลบที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
ภาคอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียนยังคงได้รับผลกระทบ เนื่องจากการซื้อที่อยู่อาศัยถือเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและเป็นภาระทางการเงินระยะยาว เมื่อผู้บริโภคต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงต้องวางแผนการเงินอย่างเข้มงวดและชะลอแผนการซื้ออสังหาฯ ออกไป ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด และผลสำรวจจากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ชี้ให้เห็นว่าแม้กำลังซื้อผู้บริโภคในอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มเติบโตในอนาคตแน่นอน เห็นได้จากแผนการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials (มิลเลนเนียล) หรือ Gen Y มากกว่าครึ่งในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยที่ยังคงให้ความสำคัญไปที่การออมเงินเพื่อซื้อบ้านใน 1 ปีข้างหน้า (69%, 59%, 77%, และ 59% ตามลำดับ)
เศรษฐกิจซบเซาทำคนไทยพึงพอใจต่อตลาดอสังหาฯ ต่ำที่สุดในอาเซียน
จากผลสำรวจล่าสุดในภูมิภาคยังเผยให้เห็นว่าคะแนนความพึงพอใจต่อสภาพตลาดที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคชาวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยแตะ 66% ในปี 2562 ปัจจุบันเหลือเพียง 48% ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนมีทิศทางเติบโตขึ้นลงสลับกันในช่วงที่ผ่านมา
สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวไทยไม่พึงพอใจต่อสภาพตลาดที่อยู่อาศัยมากขึ้นมาจากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง 68% และมองว่าตลาดอสังหาฯ ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ 33% ซึ่งค่าเฉลี่ยของสองปัจจัยนี้สูงที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคประเทศอื่น ในขณะที่อันดับสามมาจากการไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยในทำเลที่ต้องการภายในงบประมาณที่มี 32%
เกาะติดเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยชาวอาเซียน หลังเผชิญโควิดอย่างต่อเนื่อง
จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยล่าสุดใน 4 ตลาดหลักของอาเซียน เผยมุมมองและเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าสนใจ เมื่อต้องมองหาที่อยู่อาศัยท่ามกลางความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ จากภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ในเวลานี้
นอกจากนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาและส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ปัจจุบันสิงคโปร์ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว ด้านมาเลเซียจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีนในวันที่ 24 ก.พ. นี้ ในขณะที่ไทยแม้จะมีการยืนยันและเตรียมการขนส่งวัคซีนล็อตแรกไว้แล้วแต่ยังไม่มีรายละเอียดวันเวลาในการเริ่มฉีดที่ชัดเจน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้
• ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่ (56%) มองว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ราคาอสังหาฯ มีความผันผวนมากขึ้น โดย 1 ใน 2 เผยว่าความไม่คุ้นเคยในการยื่นเอกสารเป็นอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่พวกเขาต้องเผชิญ ตามมาด้วยมีเงินดาวน์ไม่เพียงพอ (39%) แม้ชาวสิงคโปร์จะยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยแต่ต้องยอมรับว่าเรื่องค่าใช้จ่ายยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อไม่น้อย ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 49% คาดหวังให้ภาครัฐออกมาตรการลดเงินดาวน์เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องการซื้ออสังหาฯ ในตอนนี้ ต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการให้ภาครัฐปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มมากกว่า อย่างไรก็ดี 3 ใน 5 ของชาวสิงคโปร์ (60%) ตั้งใจจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองภายใน 2 ปีนี้
• ครึ่งหนึ่งของชาวมาเลเซีย (52%) มองว่าราคาอสังหาฯ มีความไม่แน่นอนมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ เช่นเดียวกับชาวสิงคโปร์ โดยเมื่อต้องเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย ชาวมาเลเซียจะพิจารณาจากประเภทที่อยู่อาศัยเป็นอันดับแรกถึง 49% ตามมาด้วยขนาดที่อยู่อาศัย (38%) และราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ (38%) ในขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่ส่งผลต่อการตัดสินใจ ได้แก่ ทำเลที่ตั้ง และความปลอดภัยในการดำรงชีวิต (76% และ 66% ตามลำดับ) นอกจากนี้ สภาพคล่องทางการเงินถือเป็นอุปสรรคสำคัญของชาวมาเลเซียเมื่อต้องขอสินเชื่อบ้าน โดย 52% เผยว่ายังมีเงินดาวน์ไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่ต้องการมาตรการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการซื้อขายในตลาดอสังหาฯ ถึง 68%
• 52% ของชาวอินโดนีเซียเห็นว่าการแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้ต้องชะลอการซื้อ-ขายอสังหาฯ ออกไป ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเภทการถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาฯ มาเป็นอันดับแรกเมื่อมองหาที่อยู่อาศัยถึง 65% ตามมาด้วยการออกแบบและการก่อสร้างของโครงการ 35% นอกจากนี้สองอันดับแรกของปัจจัยภายนอกโครงการที่ใช้พิจารณาเป็นหลัก คือ ความสะดวกของระบบขนส่งสาธารณะ และทำเลที่ตั้งของโครงการ (59% และ 57% ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ชาวอินโดนีเซียมองว่าหน้าที่การงานที่ไม่มั่นคงและรายได้ที่ไม่แน่นอนถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่ออสังหาฯ ถึง 63% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และกว่า 4 ใน 5 ของผู้บริโภค (85%) ต้องการให้ภาครัฐช่วยลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่ม
• ผู้บริโภคไทย 56% ตัดสินใจชะลอการซื้อขายอสังหาฯ ช่วงนี้ออกไป เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดฯ เมื่อต้องเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย ผู้บริโภคไทยยังคงให้ความสำคัญกับขนาดที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ตามมาด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน (48% และ 44% ตามลำดับ) ในขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการจะพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง และการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะมาเป็นอันดับต้น ๆ (54% และ 50% ตามลำดับ) โดยเหตุผลยอดนิยมในการตัดสินใจซื้อบ้านใหม่มาจากความต้องการพื้นที่ส่วนตัวถึง 47% ต่างจากชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่เลือกซื้อเพื่อลงทุนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ชาวไทยส่วนใหญ่ 60% มองว่าอุปสรรคหลักเมื่อต้องขอสินเชื่ออสังหาฯ มาจากความไม่มั่นคงในอาชีพและรายได้ ซึ่งกว่าครึ่ง (52%) หวังให้ภาครัฐออกมาตรการ/นโยบายลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยในเวลานี้
COMMENTS