“ศูนย์วิจัยเทเลนอร์” คาดการณ์ 5 ความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยีของโลก ได้แก่ การประมวลผลข้อมูลแบบ Edge บนเครือข่าย 5G, นวัตกรรมด้านพลังงาน, ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าถึงง่ายขึ้น, Greenfluener และความเหลื่อมล้ำจากคนรุ่นโควิด-19 ท่ามกลางเมกะเทรนด์สำคัญอย่างการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว หลังผู้เชี่ยวชาญชี้สภาวะโลกร้อนยังเลวร้ายได้อีก
เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โลกได้ส่งสัญญาณถึงภาวะโลกร้อนรุนแรง โดยอุณหภูมิโลกทำสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่เพิ่มสูงขึ้นต่อมนุษย์ สัตว์ป่า และธรรมชาติ แม้จะยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นัก แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลในอัตราเร่งจะยังคงมีความหวังต่อการรักษาโลก
“ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นตัวกับสถานการณ์โลกร้อนที่เลวร้ายลงและต้องการหาทางออกให้กับสภาพอันเลวร้าย แต่ในมุมมองของเทเลนอร์ สิ่งสำคัญก็คือการทำความเข้าใจถึงบทบาทของเทคโนโลยีทั้งในแง่ผลกระทบด้วยตัวมันเอง และการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนั้นด้วย” นายบียอน ทาล เเซนเบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ กล่าว
สำหรับรายงาน Tech Trend ปีที่ 7 โดยศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ทีมงานได้คาดการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลกปี 2565 พร้อมทั้งหัวข้อสำคัญอย่าง Great Resignation อันเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
Green Clouds
ด้วยการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของสังคมเดินหน้าอย่างรวดเร็วด้วยอัตราเร่ง ทำให้อัตราการรับส่งข้อมูล (Cloud computing) เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ทั้งนี้ การรับส่งข้อมูลจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ “พลังงาน” เป็นปัจจัยสำคัญ จากข้อมูลระบุว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกใช้พลังงานคิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าของทั้งโลก ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือ โลกกำลังมีนวัตกรรมที่เรียกว่า Edge Computing ที่ทำให้การประมวลผลข้อมูลระหว่างต้นทางและปลายทางข้อมูลใกล้กันมากขึ้น ทำให้การประมวลผลเร็วขึ้น และแน่นอนว่าใช้พลังงานน้อยลง
ศูนย์วิจัยฯ คาดว่าเครือข่าย 5G ทั่วโลกจะค่อยๆ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Edge Computing ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโฟลวของการสื่อสารที่เดิมข้อมูลจะถูกกำหนดให้ประมวลผลที่ระบบคลาวด์กลางแห่งเดียวเท่านั้น แต่เทคโนโลยีใหม่นี้จะเปลี่ยนไปประมวลผลที่ดาต้าเซ็นเตอร์ย่อย (Edge data center) และด้วยโฟลวการส่งต่อข้อมูลรูปแบบใหม่นี้ ทำให้สามารถเลือกใช้พลังงานที่ผลิตขึ้นอย่างหลากหลายได้ เช่น พลังงานลม พลังงานความร้อนส่วนเกิน เป็นต้น
“เราเชื่อว่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยระบบ Edge บนเครือข่าย 5G จะได้รับความนิยมขึ้นรวดเร็ว และการใช้พลังงานในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์จะมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” นายแซนเบิร์ก กล่าว
ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้าถึงง่ายขึ้น
ด้วยโลกการทำงานที่ต้องการให้พนักงานของตัวเองต้องมีการพัฒนาทักษะของตนเองอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะเป็นตัวจุดชนวนให้ผู้คน ธุรกิจ และสังคม ปรับตัวและเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ นโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดขึ้นจะเป็นปัจจัยสร้างความต้องการในตลาดแรงงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
“หลาย ๆ บริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สอดความกับแนวโน้มของโลกธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและตอบสนองกับความต้องการของพนักงานในองค์กรผ่านคอร์สความรู้สั้นๆ ที่เรียกว่า Micro-degree ซึ่งหากบริษัทหรือองค์กรใดไม่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ จะทำให้องค์กรนั้นไม่ดึงดูดคนเก่งใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้” นายแซนเบิร์ก อธิบาย
ดังนั้น ศูนย์วิจัยจึงมองว่าหลักสูตรหรือข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกระแสความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในเว็บไซต์เรียนออนไลน์ต่างๆ เช่น Coursera, LinkedIn Learning, Udacity และ Khan Academy ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานได้พัฒนาและนำเสนอหลักสูตรดังกล่าวอยู่แล้วบนออนไลน์ เช่น UNESCO ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาต่างๆ จะพัฒนาหลักสูตรโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมากขึ้น
ประสิทธิภาพด้านพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าสูงขึ้น
ในขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโซลูชันต่างเอื้อให้มนุษย์มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเชิงพลังงานมากขึ้น
“ปัจจุบัน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีจำนวนมากกว่าประชากรโลกถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างมากในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงาน เราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุปกรณ์ที่มีอยู่”
ตัวอย่างเช่น การแข่งขันพัฒนาชิปเซ็ต (Chipset) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการใช้พลังงานของอุปกรณ์นั้นๆ อย่างในกรณีของ Apple นั้นได้มีการพัฒนาชิปคอมพิวเตอร์รุ่น M1 ซึ่งศูนย์วิจัยฯ คาดว่าการพัฒนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในตลาดคอมพิวเตอร์เป็นตลาดแรกๆ ก่อให้เกิดผลดีทั้งในแง่การใช้พลังงานและความอึดของแบตเตอรี่
“ในอนาคต จะมีผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานมากยิ่งขึ้น” นายแซนเบิร์ก กล่าว
การกำเนิดขึ้นของ Greenfluencer
ในขณะที่โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง แต่การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมมีให้เห็นมากยิ่งขึ้น ในปี 2565 ศูนย์วิจัยเทเลนอร์คาดการณ์ว่าจะมีแรงขับเคลื่อนทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สร้างการรับรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางความผิดหวังจากผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) และรายงานฉบับล่าสุดว่าด้วยสถานะของวิกฤติภูมิอากาศโดยการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ไม่สู้ดีนัก โดยระบุว่าสภาวะโลกร้อนจะ “เลวร้ายลง” อีก
“เหล่าอินฟลูเอนเซอร์จำนวนหนึ่งค่อยๆ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (Greenfluencer) ที่เลวร้ายลงผ่านโซเชียลมีเดียที่มีเฉพาะกลุ่ม และเราเชื่อว่าจำนวนผู้ติดตามก็จะเพิ่มมากขึ้นตามฐานความนิยมนั้นๆ”
เขายังเชื่ออีกว่า เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ไม่ว่าจะสายอาหาร แฟชั่น บิวตี้ หรือสายสุขภาพ จะเข้ามาผสมโรงตีเนื้อหาแนวรักษ์โลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในแง่การตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
“อินฟลูเอนเซอร์ที่ผลิตเนื้อหาโดยไม่เกี่ยวกับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมจะถูกมองว่าล้าสมัย ในทางกลับกัน แฟนๆ จะเข้าหาและติดตามอินฟลูเอนเซอร์ที่มุ่งสร้างการรับรู้แนวรักษ์โลก เช่นเดียวกับนักการตลาดที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน" นายแซนเบิร์ก อธิบาย
ให้ความใส่ใจกับพนักงานยุคโควิด-19 เป็นพิเศษ
การทำงานที่บ้านกลายเป็นความปกติใหม่ แม้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศ เนื่องด้วยการเดินทางที่ลดลง แต่จากผลวิจัยระบุว่า สิ่งนั้นไม่ได้เป็นผลดีสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง คนรุ่นใหม่ที่ว่าอาจเรียกได้ว่าเป็น Lost Generation เป็นกลุ่มที่เผชิญกับความยากลำบากในการทำความรู้จักและสร้างเครือข่าย ทำความเข้าใจกับภาษาและวัฒนธรรมขององค์กร แม้จะมีช่องทางออนไลน์ให้สื่อสาร จนอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การลาออกระลอกใหญ่” (Great Resignation) แต่นั่นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน
“จากผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของคนรุ่นโควิด-19 หลากบริษัทหลายองค์กรจะประสบปัญหากับการไหลออกของคนรุ่นใหม่ที่แม้แต่การเตรียมความพร้อม (On-boarding) ก็ยังไม่เคยได้รับ เว้นเสียแต่องค์กรจะมีผู้นำที่ดี” นายแซนเบิร์ก กล่าวและว่า ศูนย์วิจัยฯ มีข้อแนะนำ 3 ประการที่จะช่วยให้องค์กรนำพาคนรุ่นใหม่เปลี่ยนผ่านสู่อนาคตแห่งโลกการทำงาน ได้แก่
- สุขได้ในที่ทำงาน จัดกิจกรรมที่ทำให้คนในแต่ละรุ่นขององค์กรมาร่วมกันพูดคุย อภิปราย แลกเปลี่ยน
- ตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง กำหนดหน้าที่ของหัวหน้างานในแง่ของการเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำและการปรึกษาอย่างชัดเจน
- ให้คุณค่าและป่าวประกาศ ควรชื่นชมคนกลุ่มนี้อย่างเปิดเผย ให้ความรู้สึกทางใจ และมอบโอกาสและพื้นที่ให้พวกเขาได้กล่าวความรู้สึก
COMMENTS