วิกฤตน้ำ เป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราเผชิญแทบทุกปี ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต และระบบนิเวศ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC พาถอดบทเรียนรวบรวมองค์ความรู้จากโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อชุมชน ซึ่งได้มุ่งมั่นดำเนินงานร่วมกับชุมชนมาตลอดระยะเวลานานกว่า 10 ปี สรุปเป็นแนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดลจัดการน้ำ ‘2 สร้าง 2 เก็บ’ ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองอย่างยั่งยืน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่กับการจัดการข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อฟื้นแล้งสู่แหล่งน้ำ ป้องกันวิกฤตน้ำท่วม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเป็น “ชุมชนคนน้ำดี” อย่างยั่งยืน
SCGC ให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องทรัพยากรน้ำมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจาก “โครงการสร้างฝายชะลอน้ำ” ซึ่งปัจจุบันได้สร้างฝายฯ ร่วมกับชุมชนเป็นจำนวนกว่า 7,500 ฝาย ในบริเวณรอบพื้นที่เขายายดาซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 28,937 ไร่ กินพื้นที่บริเวณอำเภอเมืองและอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ที่แห่งนี้จึงเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนมากมาย เป็นที่ตั้งของชุมชนราว 10 หมู่บ้าน ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้มาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด สละ และลองกอง จึงจำเป็นต้องอาศัยน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรหาเลี้ยงชีพ ปีไหนที่มีสภาพแล้งจัด พืชผลทางการเกษตรย่อมเกิดปัญหา ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัว และเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง
น้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เล่าถึงการจัดการน้ำชุมชนว่า “ชุมชนในหลายพื้นที่ยังเผชิญกับปัญหาน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง SCGC ตระหนักดีว่า น้ำคือชีวิต เราจึงนำแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนสู่ชุมชน โดยเริ่มต้นที่ชุมชนรอบเขายายดา จ.ระยอง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ปราชญ์ชุมชน SCGC และหน่วยงานราชการ นานกว่า 10 ปี เพื่อคิดหาวิธีฟื้นฟูผืนป่าและแหล่งน้ำชุมชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกวก.) ร่วมนำงานวิจัยท้องถิ่นประยุกต์ต่อยอดกับความรู้ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม เกิดเป็นองค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนฉบับชุมชน ภายใต้แนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดลการจัดการน้ำ “2 สร้าง 2 เก็บ” เน้นให้ชุมชนพึ่งพาตนเองด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยท้องถิ่นเพื่อนำข้อมูลมาใช้ทำแผนจัดการน้ำในระดับชุมชน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้จากชุมชนสู่ชุมชน จากรุ่นสู่รุ่น สร้างชุมชนคนน้ำดี เพื่อความยั่งยืน”
และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ชุมชนบ้านมาบจันทร์ หนึ่งในชุมชนที่อยู่รอบเขายายดา ร่วมกับ SCGC ถอดบทเรียน “10 ปี กับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ฉบับชุมชน” เพื่อเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนอย่างเป็นระบบ อันนำมาซึ่งความยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และ ESG (Environmental, Social, Governance: ESG)
วันวานผ่านมากับปัญหาเรื่องน้ำไม่รู้จบ
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2531 เขายายดาถูกภัยคุกคามจากไฟป่าเผาอย่างต่อเนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทำเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ค่อย ๆ หายไปและถูกแทนที่ด้วยพื้นดินที่ถูกเปิดโล่ง ทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำของดินลดลง ก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเมื่อฝนตกหนักฉับพลัน และในภาวะหน้าแล้งก็ขาดน้ำหล่อเลี้ยงในดิน ส่งผลให้เกษตรกรโดยรอบได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการขาดน้ำเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือน และภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดระยอง เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจหลักของจังหวัด
กว่า 20 ปี ที่ชุมชนรอบเขายายดา ต้องเผชิญหน้ากับภาวะน้ำแล้ง รับมือกันทุกรูปแบบ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2550 ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ จังหวัดระยอง ในฐานะผู้นำชุมชน ผู้แบกรับความทุกข์ยากทั้งของตนเองและลูกบ้าน ได้ลุกขึ้นท้าทายกับสภาวะน้ำแล้งตามแนวคิดการจัดการน้ำชุมชนอย่างเป็นระบบจาก SCGC เพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่าของชาวมาบจันทร์ ผ่านมากว่า 10 ปีที่ได้เรียนผิด เรียนถูก จนเกิดเป็น “องค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนฉบับชุมชน” ภายใต้แนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล “2 สร้าง 2 เก็บ”
‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ
แนวคิด ‘เก็บน้ำดี มีน้ำใช้’ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ
- สร้างคน รวมพลังสร้างกลุ่มแกนนำที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เสียสละ กล้าตัดสินใจ บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็น
- สร้างกติกา ตั้งกติกาการใช้น้ำของชุมชนบนพื้นฐานของการเกื้อกูลและความเข้าใจ
- เก็บน้ำ เก็บน้ำในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ด้วยการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ และแหล่งเก็บน้ำของชุมชน เก็บน้ำไว้ให้มีใช้ในหน้าแล้ง นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
- เก็บข้อมูล เก็บข้อมูลต้นทุนน้ำ เพื่อนำมาวิเคราะห์ทำนายสถานการณ์น้ำในอนาคตได้อย่างแม่นยำ พร้อมหาแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความรู้ข้อเท็จจริง แทนการคาดเดาตามความรู้สึก
ผู้ใหญ่วันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ กล่าวว่า “ทีมงานของ SCGC เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเราเหมือนเป็นพี่น้อง สอนลูกบ้านเราให้รู้จักความสำคัญของการเก็บข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่การทำผังน้ำ ทำแผนที่ในหมู่บ้านว่ามีลำธารกี่เส้น มีบ่อกี่แห่ง นอกจากนี้ ในทุกเช้าเราต้องจดบันทึกว่าวันนี้อุณหภูมิเท่าไหร่ น้ำระเหยเท่าไหร่ ฝนตกเท่าไหร่ เท่ากับว่าตอนนี้ชุมชนของเราเป็นนักวิจัยกันหมดแล้ว”
สร้างสมดุลน้ำ หาวิธีเก็บน้ำยั่งยืน
จากการศึกษา เก็บข้อมูล พร้อมลงมือปฏิบัติจริง ชวนให้ชุมชนได้เข้าใจสถานการณ์น้ำของพื้นที่ตนเองผ่านการนำ “สมการสมดุลน้ำ” เข้ามาร่วมตรวจสอบ กล่าวคือ เริ่มจากการเก็บข้อมูล “น้ำต้นทุน” ทั้งน้ำฝน น้ำบ่อ และน้ำท่า หรือน้ำตามลำธารและลำคลองในหมู่บ้าน ตลอดจนข้อมูลการระเหยน้ำ ปริมาณการใช้น้ำของต้นไม้ในธรรมชาติ โดยนำอุปกรณ์ที่ใช้สอยในครัวเรือนมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือเก็บวัดแบบง่าย ๆ พร้อมบันทึกข้อมูลแต่ละวัน ในขณะเดียวกันก็สำรวจและบันทึกปริมาณ “น้ำใช้” ของชุมชนโดยรอบ ทั้งในครัวเรือน การเกษตร และปศุสัตว์ และเมื่อได้ทั้ง 2 ชุดข้อมูลมาแล้ว จึงนำมาวิเคราะห์หาสมดุลระหว่างกัน เพื่อดูความเพียงพอของปริมาณ “น้ำคงเหลือ” จึงทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนจะมีน้ำขาดหรือเหลือเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับแนวโน้มระยะเวลาและความรุนแรงของช่วงขาดแคลนน้ำในแต่ละเดือน
เก็บน้ำจากฟ้าลงสู่ดิน
หลังจากรู้สถานการณ์น้ำเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาคือการออกแบบวิธีบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมทั้งช่วงหน้าฝนและหน้าแล้ง โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการทำความเข้าใจ “หลักการเก็บน้ำอย่างยั่งยืน” ด้วยการหาวิธีการเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุดตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และที่ปรึกษาโครงการฯ เล่าถึงการเก็บน้ำอย่างเป็นระบบว่า “เราแนะนำการลดปัญหาน้ำหลาก และตุนน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งให้กับชุมชน ตั้งแต่ฟื้นฟูป่าต้นน้ำด้วยการปลูกป่า 5 ระดับเพื่อชะลอน้ำฝน ให้ดินซึมซับน้ำ และสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเก็บน้ำจากเขา กักความชุ่มชื้น สร้างทำนบชะลอน้ำและขุดลอกคลองเพื่อเก็บน้ำในคลองใช้ได้มากขึ้น รวมทั้งการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำหน้าดินให้คืนลงสู่ชั้นใต้ดิน ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างวิธีการเก็บน้ำตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทางอย่างยั่งยืน”
กว่า 10 ปี ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่สัมผัสได้
แม้ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูป่าไม้ และแหล่งน้ำในชุมชนนานนับปีก็ตาม แต่ด้วยความร่วมมือและความตั้งใจของทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นจริง ชุมชนบ้านมาบจันทร์จึงรอดพ้นจากวิกฤตน้ำแล้งมาหลายปีต่อเนื่อง
“หลังจากการสร้างแผนบริหารจัดการน้ำชุมชน ชุมชนบ้านมาบจันทร์ รวมถึงชุมชนอื่น ๆ รอบเขายายดา และ SCGC ได้เดินหน้าตามแผนงาน ซึ่งในระยะเวลากว่า 10 ปี พบว่า ป่าต้นน้ำเขายายดาให้น้ำท่าในลำธารรวมผลผลิต 14.83 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจากการศึกษาโดยการแปรภาพถ่ายทางอากาศ พบปริมาณป่าเพิ่มมากขึ้น โดยพบพรรณไม้ถึง 120 ชนิดพันธุ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า 123 ชนิด อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีลดลง 1.6 องศาเซลเซียส ช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 38.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไร่” ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล กล่าวเพิ่มเติม
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมชุมชนคนน้ำดี เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC จึงได้ถอดบทเรียน 10 ปีกับการฟื้นแล้งสู่แหล่งน้ำ ด้วยแนวคิด “เก็บน้ำดี มีน้ำใช้” โดยใช้โมเดล “2 สร้าง 2 เก็บ” สร้างชุมชนคนน้ำดี เพื่อดูแลทรัพยากรน้ำให้คงอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมจัดตั้ง “แหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ชุมชนรอบเขายายดา” เพื่อส่งต่อองค์ความรู้สู่ชุมชนและเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่น และเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับผู้สนใจอยากสัมผัสประสบการณ์จริง ผู้ใหญ่วันดี อินทร์พรม และลูกบ้าน ยินดีต้อนรับทุกท่านด้วยรอยยิ้มและน้ำใจจากชาวมาบจันทร์ ติดต่อการเยี่ยมชม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านมาบจันทร์ ได้ที่ โทรศัพท์ 089-248-1204
COMMENTS