สถิติผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัทสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของยอดขายจากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านระดับพรีเมียมและชิ้นส่วนยานยนต์ของแอลจี
แอลจี อีเลคทรอนิคส์ อิงค์ (แอลจี) ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงยอดขายที่แข็งแกร่งจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของแอลจีในภูมิภาคที่สำคัญต่าง ๆ และการเติบโตของผลกำไรจากกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของแอลจี ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังฟื้นตัว
แอลจีประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2565 ที่ 19.5 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 5.46 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผลกำไรจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 792.2 พันล้านวอน (หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท) ลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา 12 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุหลักมาจากความท้าทายด้านซัพพลายเชนและต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อธุรกิจจากโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แอลจีรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการสร้างผลประโยชน์จากทุกกลุ่มธุรกิจที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของบริษัท ด้วยการเพิ่มยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์ทั้งในระดับพรีเมียมไปจนถึงผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงสร้างการเติบโตในการทำธุรกิจแบบ B2B (business-to-business) เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศ รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสดังกล่าวที่ 8.07 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 2.26 แสนล้านบาท) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแอลจีที่กลุ่มผลิตภัณฑ์เพียงกลุ่มเดียวสามารถสร้างผลประกอบการประจำไตรมาสได้มากกว่า 8 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 2.24 แสนล้านบาท) ได้สำเร็จ โดยผลกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 432.2 พันล้านวอน (หรือประมาณ 1.21 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ ผลประกอบการดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา 18 เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญมาจากยอดขายที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านระดับพรีเมียมและจากหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขอนามัยด้วยการใช้เทคโนโลยีไอน้ำ ในภูมิภาคที่สำคัญของอเมริกาเหนือและลาตินอเมริกา โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องปรับอากาศวางแผนที่จะรักษาระดับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม พร้อมเสริมความแข็งแกร่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภคทั่วไปมากยิ่งขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีรายได้ที่ 3.46 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 9.69 หมื่นล้านบาท) โดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 18.9 พันล้านวอน (หรือประมาณ 5.29 ร้อยล้านบาท) สะท้อนถึงการลงทุนด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาด กลยุทธ์ด้านโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของแอลจีจะมุ่งเน้นที่การจัดการงบประมาณการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งสร้างการเติบโตของกลุ่มทีวีพรีเมียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลที่ทำยอดขายได้สูงสุดอย่างช่วง FIFA World Cup และช่วงวันหยุดยาว
กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ ทำรายได้ประจำไตรมาสสองอยู่ที่ 2.03 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 5.68 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้ทำกำไรได้เป็นครั้งแรก ยอดขายที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นผลจากการที่แอลจีตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์ด้วยการจัดการซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนที่เกิดจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ บริษัทจะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก พร้อมกับการบริหารจัดการโครงสร้างต้นทุนที่แข็งแกร่งเพื่อทำกำไรให้เพิ่มเติมในอนาคต
กลุ่มธุรกิจโซลูชันสำหรับองค์กร ทำยอดขายที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.54 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 4.31 หมื่นล้านบาท) โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 14.3 พันล้านวอน (หรือประมาณ 4 ร้อยล้านบาท) มีรายได้เพิ่มขึ้น 19 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจ B2B ทำให้บริษัทตั้งเป้าดำเนินธุรกิจเชิงรุกเจาะกลุ่มลูกค้าในธุรกิจดังกล่าว โดยการพัฒนาโซลูชันที่ออกแบบมาเพื่อลูกค้ามากขึ้น และเพิ่มตัวเลือกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการเติบโตที่มั่นคง
กลุ่มธุรกิจที่ยุติลง ผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 จากธุรกิจแผงโซลาร์เซลล์ของแอลจี ซึ่งได้ถูกปิดตัวลงเมื่อเดือนมิถุนายนตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ถือเป็นผลขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจที่ถูกยกเลิกไปแล้ว
รายได้ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบด้านบัญชีประจำไตรมาสของ แอลจี อีเลคทรอนิคส์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IFRS (International Financial Reporting Standards) สำหรับช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไทยต่อวอนเกาหลีจะเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของสามเดือนในไตรมาสเดียวกัน โดยอัตราแลกเปลี่ยน ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 อยู่ที่ 1 บาทต่อ 0.028 วอน (ตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทย)
COMMENTS