“การให้ที่ยิ่งใหญ่คือการให้แสงสว่าง ในการมองเห็นอีกครั้ง” หวังช่วยผู้ป่วยด้านจักษุให้กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
มูลนิธิฯ องค์กรสาธารณกุศล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมอบโอกาสให้กับประชาชนได้เข้าถึงการรักษาตา เพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็น จึงให้การสนับสนุนโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เพื่อสร้างศูนย์ผ่าตัดตาที่ทันสมัย และรักษาผู้ป่วยได้อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพราะมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังต้องเข้าคิวรอคอยการรักษา โดยการสนับสนุนดังกล่าวนจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้ป่วยได้เข้าถึงการแพทย์ทางด้านจักษุได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ตามวัตถุประสงค์ที่มูลนิธิตั้งใจไว้
นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า “โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เป็นศูนย์รับส่งต่อโรคทางจักษุ เรามีบุคลากรด้านจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ได้แก่ ด้านกระจกตา ด้านจอประสาทตา ด้านต้อหิน ด้านจักษุเสริมสร้างและตกแต่ง ด้านประสาทจักษุ ด้านม่านตาอักเสบ ด้านกล้ามเนื้อตาและตาเขเด็ก เป็นต้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราช่วยผ่าตัดให้คนไข้มองเห็นแล้วเป็นแสนๆ ดวงตา ทีมงานของโรงพยาบาลทำงานหนักมากเพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง เรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าการให้ที่ยิ่งใหญ่ คือ การให้แสงสว่างกับผู้ป่วยเพื่อให้เขากลับมามองเห็นได้อีกครั้ง”
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลบ้านแพ้ว มีห้องผ่าตัดเพียง 2 ห้อง มีจักษุแพทย์ 16 ท่าน ในขณะที่มีผู้ป่วยรอการผ่าตัดกว่า 5,000 รายต่อปี เท่ากับว่าจักษุแพทย์ 1 ท่าน จะมีชั่วโมงในการใช้ห้องผ่าตัดเพียงท่านละ 2.5 ชั่วโมง ซึ่งห้องผ่าตัดตามีไม่เพียงพอกับการใช้งาน
“เราฝันที่จะมีห้องผ่าตัดปลอดเชื้อ ที่มีอุปกรณ์ทันสมัย 9 ห้อง เพื่อรองรับการใช้งานของทีมแพทย์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากถึง 90 ล้านบาท ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้เปิดระดมทุนเพื่อสร้างห้องผ่าตัด ก็มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคสมทบมาบ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ฝันของพวกเราสำเร็จได้ จนทางทีมงานมูลนิธิ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ได้ทราบเรื่อง โดยมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างห้องผ่าตัดตาปลอดเชื้อจำนวน 9 ห้อง ห้องเตรียมผู้ป่วยดมยาสลบ จำนวน 1 ห้อง ห้องเก็บของ Sterile จำนวน 2 ห้อง ห้องเก็บเครื่องมือแพทย์ ห้องเก็บเครื่องมือวิสัญญี และห้องพักคอยผู้ป่วย รวมไปถึงอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ภายในห้องผ่าตัด เช่น โคมไฟผ่าตัด เตียงผ่าตัด เป็นต้น รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 69.9 ล้านบาท นับเป็นเงินก้อนที่ใหญ่มากเท่าที่เราเคยได้รับบริจาคมา”
ด้วยโอกาสที่ทางมูลนิธิฯ มอบให้กับโรงพยาบาล จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรักษาตาให้กับประชาชนได้มากขึ้นและทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยรอการรักษา อีกทั้งช่วยลดภาระการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครได้ เพราะโรงพยาบาลบ้านแพ้ว สามารถรับผู้ป่วยจาก 8 จังหวัด ในเขตบริการสุขภาพที่ 5 ของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าจะสำเร็จลุล่วงและเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2566
ด้านนายวุฒิพงศ์ ชาครัตพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา กล่าวในฐานะตัวแทนมูลนิธิฯ ว่า มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เป็นองค์กรสาธารณกุศล ดำเนินงานช่วยเหลือสังคม โดยให้การสนับสนุนการพัฒนา เพื่อคน เพื่อสังคม เพื่อโลกที่ยั่งยืน การให้การสนับสนุนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว มูลนิธิฯ ได้ติดตามการทำงานของโรงพยาบาลมาโดยตลอดและพบว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงมองเห็นความตั้งใจของทีมแพทย์และพยาบาล อีกทั้งมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เดินทางออกไปดูแลรักษาประชาชนในสถานที่ต่างๆ ทางมูลนิธิฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมอบโอกาสให้กับประชาชนในการเข้าถึงการรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็นจึงสนับสนุนเงินเพื่อสร้างศูนย์ผ่าตัดตา ซึ่งทางประธานมูลนิธิได้มีดำริมาแล้วว่า มูลค่าของศูนย์ผ่าตัดตาที่ทางมูลนิธิฯ สนับสนุนครั้งนี้ เทียบไม่ได้เลยกับโอกาสที่สังคมจะได้รับ
“วันนี้ห้องผ่าตัดตาได้เริ่มก่อสร้างแล้ว เราหวังว่าห้องผ่าตัดตาที่เราสร้างให้กับโรงพยาบาลจะช่วยให้ผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่กลับมามองเห็นได้อีกครั้ง เราเห็นความสำคัญของการรักษาดวงตาและมูลนิธิฯ พร้อมให้การสนับสนุนโรงพยาบาลบ้านแพ้วอย่างต่อเนื่อง”
นายชยพัทธ์ นิลทองคำ อายุ 70 ปี ผู้ป่วยโรคตา ที่ได้รับการรักษาจาก ร.พ.จักษุบ้านแพ้ว จนสามารถกลับมามองเห็นและใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง กล่าวทั้งน้ำตาว่า “ตนเองเคยใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนอก จนมีเหตุทำให้ป่วยด้วยโรคตาจนมองไม่เห็น และที่นั่นไม่สามารถทำการรักษาให้ได้ จึงได้เดินทางกลับมาที่ประเทศไทยและพบว่าที่ ร.พ.จักษุบ้านแพ้วรับตนเองไว้เป็นผู้ป่วยและได้รับการษาจนหายจากที่นี่ รู้สึกดีใจที่ทางมูลนิธิฯ ได้สมทบทุนร่วมสร้างโอกาสให้กับผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่กำลังรอรับการรักษาตาอยู่ ตนเองรู้ว่าการมองไม่เห็นแค่ในช่วงเวลาหนึ่งมันทรมานมากเพียงใด และขอขอบคุณความตั้งใจของทีมแพทย์ พยาบาลที่นี่ที่พยายามจะพัฒนาการรักษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการมองเห็นให้พวกเรา”
COMMENTS