สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) นำทัพแถลงข่าวเปิดตัวการจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” ในวันที่ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร สร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมีพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด และ พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวรายงาน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการและสร้างมาตรการและกลไกเพื่อพัฒนาศักยภาพหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ ตื่นตัว เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ สร้างเครือข่ายและศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในการป้องกัน รับมือ และลดความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศไทย
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ มีสภาพและลักษณะของภัยคุกคามที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีรูปแบบการโจมตีที่หลากหลาย และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปในหลายภาคส่วน จึงได้มีแนวคิดในการจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” เพื่อตอบสนองนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีเป้าหมายและแนวทางในการบูรณาการ การจัดการ สร้างมาตรการและกลไกในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยมีนโยบายให้ สกมช. เน้นให้มีความแตกต่างจากการจัดงานที่ผ่านมาทุกครั้ง ด้วยคำขวัญ “Secure your cyber, Secure your future” การปกป้องโลกไซเบอร์ ก็เป็นการปกป้องอนาคตของคุณด้วยเช่นกัน อีกทั้งให้หน่วยงาน สกมช. เผยแพร่และสื่อสารเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้วยภาษาที่ง่าย และตรงประเด็น สำหรับทุกกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ถึงภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มีการโจมตีในทุกรูปแบบและมีผลกระทบกับเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ รวมถึงจะได้ร่วมกันบูรณาการความรู้และใช้ประโยชน์จากงานในครั้งนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการปกป้องตนเองและต่อยอดธุรกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วนในการแข่งขันกับต่างประเทศและภัยคุกคามในอนาคตต่อไป
โดย สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จับมือกับหน่วยงานพันธมิตร จัดให้มีการแสดงนิทรรศการผลงานงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยบริษัทสตาร์ตอัป นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาของไทย การให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ พร้อมกับการประชุม-สัมมนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ และนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยจากบริษัทและหน่วยงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 80 บริษัท รวมถึงการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์/บริการและบริษัทที่สนใจนำผลิตภัณฑ์/บริการมาจัดจำหน่ายให้แก่ธุรกิจและบุคคลทั่วไป พบกับมิติใหม่ของมหกรรมรับสมัครงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Job Fair) เปิดโอกาสอันดีสำหรับการสมัครงานแบบไร้ข้อจำกัดกับองค์กรที่มีคุณภาพ หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนชั้นนำที่จะเปิดบูธรับสมัครงานรวมกว่า 10 ราย และพบกับหัวข้อสัมมนาเพื่ออัปเดตแนวโน้มตลาดแรงงานด้าน Cybersecurity ของไทย ไขข้อข้องใจว่าสายงานด้านไหนที่กำลังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งนักศึกษาที่จบใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์ใบรับรอง และทักษะสำคัญใดที่ควรมีเพื่อให้เป็นที่สนใจของเหล่า HR รวมถึงร่วมฟังการเสวนาและแชร์ประสบการณ์กับเหล่าบริษัทไอทีชั้นนำ และสถาบันฝึกอบรมและออกใบรับรองระดับโลก กิจกรรมสำคัญที่ไม่ควรพลาด Live Hacking Demo: “แอปดูดเงิน VS เจาะระบบองค์กรขนาดใหญ่” ชม Live Hacking Demo: “ลองเป็นเหยื่อแอปดูดเงินเพื่อถอดรหัสโจร” และ “เจาะช่องโหว่ระบบ Active Directory ขององค์กรขนาดใหญ่” สัมผัสประสบการณ์พร้อมเรียนรู้พื้นฐานการเจาะระบบและการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย (Ethical Hacking & Security) เบื้องต้น จากหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอันดับต้นๆ ของไทย เปิดโอกาสสำหรับก้าวแรกสู่สายOffensive Security และร่วมสนุกในเกมการแข่งขันทำโจทย์ตะลุยด่านด้าน Cybersecurity ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท พร้อมรับประกาศนียบัตรจาก สกมช. และเปิดเวทีให้บริษัทสตาร์ตอัปและสถาบันการศึกษานำผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์มานำเสนอโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งทุกหน่วยจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนัก รู้ ตื่นตัว เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วนในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามไซเบอร์ และส่งเสริมผู้ประกอบการในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อีกด้วย
คุณกฤษณา เขมากรณ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย M-Solutions Technology (Thailand) Co., Ltd. กล่าวว่า บริษัท M.TECH มาพร้อมกับแนวคิด SecureTogether StrongerTogether will Secure Everything ซึ่งในงานนี้บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีการป้องกัน และรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ชั้นนำ มาจัดแสดง ซึ่งภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะทำงาน เรารวบรวมเทคโนโลยีของผู้นำ CyberSecurity Vendor พร้อมทั้งบูรณาการสร้างสถาปัตยกรรมให้เทคโนโลยีทำงานประสานกัน เพื่อให้สามารถตรวจพบและตอบสนองต่อภัยไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด : ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ 5G และ AI ได้ส่งผลให้โลกไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น และทำให้เกิดภัยทางไซเบอร์ใหม่ ๆ ในหลายรูปแบบ ซึ่งบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการส่งเสริมบุคลากรด้าน ICT ในไทย และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาทักษะบุคลากรให้กลายเป็นขุมพลังสำคัญด้านบุคลากรไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของประเทศ จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ผ่านโครงการฝึกอบรมที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนทางไซเบอร์ในตลาดแรงงานไทย และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคอัจฉริยะที่ทุกคนมีบทบาทและเชื่อมถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ
ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.thncw.com หรือ Facebook THNCW
COMMENTS