sacit ปลุก Passion เอาใจคนรักคราฟต์ เตรียมยกทัพหัตถกรรมไทยร่วมสมัยเสิร์ฟในงาน “sacit เพลินคราฟต์ 2023” ตลอดเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคมนี้ หวังจุดไอเดียสร้างอาชีพ เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ คาดผลตอบรับร่วมงานไม่ต่ำ 1.5 หมื่นคน ตอกย้ำภาพคราฟต์ไทยใคร ๆ ก็ชอบ
นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit เปิดเผยว่า ภารกิจที่สำคัญของ sacit คือการส่งเสริมงานหัตกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการอนุรักษ์แบบดั้งเดิม และการสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดผลงานใหม่ที่ร่วมสมัย เพื่อให้หัตถกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์เหล่านี้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้สร้างสรรค์งานหัตกรรมไทยให้เข้มแข็ง มีรายได้และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน
โดยในปีนี้ sacit ยังคงดำเนินภารกิจดังกล่าว เตรียมสานต่อความสำเร็จของกิจกรรมสร้างการรับรู้ และกระตุ้นตลาดในงาน “sacit เพลินคราฟต์ 2023” ที่ได้รวบรวมงานคราฟต์ร่วมสมัยมีเอกลักษณ์โดดเด่น น่าสนใจ และเข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองมาร่วมจัดแสดงและจำหน่าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน อีกทั้งภายในงานยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบงานคราฟต์ ได้สัมผัสงานศิลปหัตถกรรมผ่านการลงมือทำ (workshop) ทั้งในแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย สร้างแรงบันดาลใจและแนวคิดการนำงานศิลปหัตถกรรมไทยไปต่อยอดสร้างอาชีพ
“ผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับ passion ความรักและความชอบในสิ่งที่ทำอยู่ไม่น้อย เพราะการรักในสิ่งที่ทำนั้น หมายถึงการที่จะทำงานชิ้นนั้นออกมาได้อย่างใส่ใจ งานคราฟต์ก็เหมือนกับงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ที่ต้องใช้ทั้งความรัก ความชอบ และความใส่ใจ การจัดงาน sacit เพลินคราฟต์ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการคราฟต์ ได้นำชิ้นงานมานำเสนอต่อผู้ช้อปคราฟต์ เหมือนผู้นำความรักของตน มาส่งต่อความรักให้กับอีกหลายคน” นายภาวี กล่าว
สำหรับงาน sacit เพลินคราฟต์ 2023 ปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “Craft at First Crush : คราฟต์ไทยใครๆ ก็ชอบ” ที่ถ่ายทอดถึงความรู้สึกของการตกหลุมรักในงานคราฟต์ ความรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งใจความสำคัญของการสร้างสรรค์หัตถกรรมไทยที่ประณีตและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องรวม 4 ครั้ง ตลอดเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2566 แบ่งออกเป็น
- ครั้งที่ 1 วันที่ 30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่แอร์พอร์ต
- ครั้งที่ 2 วันที่ 22 - 28 มิถุนายน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 2
- ครั้งที่ 3 วันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพัทยาบีช
- ครั้งที่ 4 วันที่ 24 - 30 กรกฎาคม ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
สำหรับไฮไลต์ภายในงานได้รวบรวมสินค้าไลฟ์สไตล์ ของตกแต่งบ้าน งานผ้าไหม เครื่องประดับ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องหนัง และงานฝีมือประเภทต่างๆ ที่ถูกคัดสรรคุณภาพจากหลากหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศมาจัดแสดงและจำหน่ายในแต่ละครั้งกว่า 40 ร้านค้า รวม 4 ครั้ง กว่า 150 ผู้ประกอบการคราฟต์ ที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเสิร์ฟให้กับคนรักคราฟต์ และนักท่องเที่ยว ได้ตกหลุมรัก โดย sacit ได้คัดสรรผู้ประกอบการให้สอดคล้อง และตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนเมืองของแต่ละพื้นที่ของการจัดงาน พร้อมกิจกรรมโปรโมชั่นพิเศษ และของที่ระลึกคราฟต์สไตล์มากมาย
อีกทั้งยังมีกิจกรรม Craft Workshop ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของงาน sacit เพลินคราฟต์ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมเพลิดเพลิน และ DIY หลากหลายงานคราฟต์ ในแต่ละวันอีกด้วย อาทิ ปั้นต่างหูลายไทยจากดินญี่ปุ่น, ปักลายบนกระเป๋ากระจูด, สร้างสรรค์ลายผ้าจากน้ำหมึกยางกล้วย, จักสานไม้ไผ่เป็นรูปต่างๆ เป็นต้น รวมไปถึงการแสดงและกิจกรรมบนเวทีจากศิลปินดาราชื่อดังที่จะมาร่วมสร้างความบันเทิง พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ชวนให้คุณตกหลุมรักงานคราฟต์มากมาย แบบครบรส อาทิ ลี ฐานัฐพ์, มัจฉา โมซิมันน์, ปาย สิตางค์, พลัสเตอร์ ภัทร์นิธิ, มี่ ปุญญาดา, ลูกตาล ชลธิชา และเหล่าศิลปินเสียงดีจากเวที The Voice และ The Star อย่างคับคั่ง ตลอดการจัดงาน
นายภาวี กล่าวเสริมว่า การจัดงานในครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้รักงานคราฟต์ และผู้ที่ต้องการหาไอเดียต่อยอดอาชีพ ประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานรวมไม่ต่ำกว่า 15,000 คน และสร้างเงินสะพัดภายในงานไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท และสิ่งสำคัญจะสามารถตอกย้ำให้หัตถกรรมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนจากการสืบสาน สร้างสรรค์ และส่งเสริมผลงานให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดรับต่อไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในทุกยุคสมัย แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของงานคราฟต์ไทยที่ใคร ๆ ก็ชอบ
ทั้งนี้ sacit ขอเชิญชวนคนรักงานคราฟต์ไทย หรือผู้ที่ต้องการหาไอเดียใหม่ ๆ ต่อยอดอาชีพ สามารถปักหมุดล่วงหน้า เตรียมพร้อมเพลิดเพลิน มาตกหลุมรัก งานคราฟต์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน “sacit เพลินคราฟต์ 2023” ตลอด 3 เดือนหลังจากนี้ โดยสามารถสอบถาม หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook : สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย
COMMENTS