อเด็คโก้เปิดตัวคู่มืออัตราเงินเดือนปี 67 กว่า 900 ตำแหน่งในไทย พร้อมผลสำรวจ Salary & Work Trend จากคนทำงานกว่า 2,400 คนทั่วประเทศ แนะองค์กรปรับโครงสร้างให้คล่องตัว และเน้นดึงดูดและรักษาพนักงานด้วยนโยบาย Remote/ Hybrid work และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง (Strong Company Culture)
ดาวน์โหลด Adecco Thailand Salary Guide
บริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย HR Solutions Provider ผู้นำระดับโลกด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร เปิดตัว Adecco Thailand Salary Guide หรือคู่มืออัตราเงินเดือน ประจำปี 2567 อย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในปีนี้นอกจากจะมีข้อมูลอัตราเงินเดือนของพนักงานตำแหน่งต่าง ๆ ในประเทศไทยกว่า 900 ตำแหน่งแล้ว ยังมาพร้อมกับผลสำรวจความคิดเห็นของคนไทยทั่วประเทศกว่า 2,450 คน เกี่ยวกับความพึงพอใจด้านเงินเดือนและสวัสดิการขององค์กรที่ตนเองสังกัด และความรู้สึกต่อเทรนด์การทำงานต่าง ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา
คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดแรงงานไทยในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างคึกคัก หลายธุรกิจฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการซึ่งกระจายการจ้างงานไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย มีการเพิ่มขึ้นของรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า gig economy หรือระบบเศรษฐกิจจากการรับงานเป็นชิ้นหรือเป็นครั้ง และมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการจ้างงานประจำมาเป็นสัญญาจ้างตามระยะเวลาหรือฟรีแลนซ์มากขึ้นเพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง และเดลิเวอรี่
ในเรื่องของเงินเดือนและทักษะมาแรงพบว่า เงินเริ่มต้นของตำแหน่งต่าง ๆ ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก ในขณะที่เพดานเงินเดือนมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามสภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเป็นผลจากการแย่งชิงทาเลนต์เช่น คนทำงานในระดับประสบการณ์ 0-3 ปี เงินเดือนสูงสุดที่ได้รับสูงถึง 100,000 บาท จากเดิมที่มีคนเคยได้ 80,000 บาทในปีที่ผ่านมา โดยเป็นเงินเดือนในตำแหน่ง Software Engineer ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อองค์กรในปัจจุบันที่นำซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้อย่างเข้มข้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และหากมี soft skills ด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย องค์กรก็พร้อมจะจ้างด้วยอัตราเงินเดือนสูงกว่าอัตราทั่วไปของตลาด ส่วนเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูง อาจสูงถึง 600,000 บาทหรือมากกว่า เช่น ตำแหน่ง Medical Director ในธุรกิจ Healthcare หรือ ตำแหน่ง Managing Director ในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งสองธุรกิจเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจด้านสุขภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งระดับสูงอื่น ๆ เช่น Chief Digital Officer และ Chief Technology Officer ที่เงินเดือนอาจสูงถึง 500,000 บาทหรือมากกว่า ในภาพรวมตำแหน่งที่มีความต้องการสูง และได้เงินเดือนดีคือ ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะหรือมีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งอาจจะยังมีไม่เพียงพอในตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ผลสำรวจ Salary and Work Trend Survey จากผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 2,456 คน ซึ่งสำรวจในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังเป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของตลาดแรงงานได้ชัดเจนขึ้น เช่น
• คนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ หรือ 67% รู้สึกมั่นคงในอาชีพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมไอที อสังหาริมทรัพย์ และบริการเฉพาะด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นสามอุตสาหกรรมที่มองว่าธุรกิจที่ตนเองสังกัดกำลังเติบโตมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีในองค์กรที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ทำให้คนกล้าใช้เงินซื้อสินทรัพย์หรือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมถึงการหันมาใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างทันท่วงที
• คนทำงาน 36% บอกว่าตนเองกำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจังในช่วงปีนี้ ในขณะที่ 54% บอกว่าพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ
• คนที่ต้องการเปลี่ยนงาน 60% คาดหวังการได้เงินเพิ่มมากกว่า 20% จากงานใหม่ และยิ่งมีอายุการทำงานน้อยก็จะมีสัดส่วนที่ต้องการเงินเดือนเพิ่มมากกว่าคนที่อยู่นานกว่า
• พนักงานในองค์กรขนาดใหญ่ (องค์กรขนาด 500 คนขึ้นไป) ให้คะแนนระบบพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร (Learning & Development) ในระดับดี-ดีมาก ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนจากพนักงานในองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แสดงถึงการให้ความสำคัญขององค์กรใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการ reskill/upskill ให้กับพนักงานจำนวนมาก เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ
• คนทำงาน 64% มองว่า CSR (Corporate Social Responsibility) / ESG (Environment Social Governance) เป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับต้นๆขององค์กร
• ทักษะด้านดิจิทัลและความเป็นผู้นำ เป็นทักษะอันดับหนึ่งร่วมกันที่คนทำงานกว่า 60% ต้องการพัฒนา โดยมองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพได้มากที่สุด โดยทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งหรือระดับใดในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ทักษะความเป็นผู้นำก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สามารถบริหารทีมงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• คนทำงาน 74% มองการเกิดขึ้นของ Generative AI เช่น ChatGPT ในแง่ดี และมีคน 45% ที่ใช้ Generative AI ช่วยในการทำงานเป็นประจำ มีเพียง 24% ที่รู้สึกกังวลว่าอาจโดน AI แย่งงานใน 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่ม พนักงานพาร์ทไทม์ คนที่กำลังว่างงาน และผู้บริหาร ทั้งนี้เนื่องจาก GenAI สามารถทำงานได้หลากหลายและช่วยจัดการงานตั้งแต่งานเล็กๆ อย่างการแปลภาษา งานออกแบบ ทำกราฟฟิค จนไปถึงการวางโครงงานของโปรเจคต่างๆ ได้ ทำให้คนที่ทำงานพาร์ทไทม์ที่อาจรับงานเป็นชิ้นงาน อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ในขณะที่ผู้บริหารอาจเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ไม่รู้วิธีใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจกังวลว่า ด้วยข้อมูลที่มีมากกว่า และความสามารถในการประมวลผลที่เร็วกว่า AI ก็อาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์สูง
คุณธิดารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มตลาดแรงงานในปีนี้ที่บางธุรกิจอาจจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาพนักงาน ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงควรพิจารณาปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เช่น การให้มี”นโยบาย remote / hybrid work”ต่อไป ซึ่งสถิติพบว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ผู้สมัครงานและพนักงานใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรนั้น ๆ และการทำงานแบบรีโมทช่วยให้องค์กรสามารถดึงดูดคนเก่งที่มีความสามารถจากทุกที่ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะที่ตั้งของสำนักงาน การมีตัวเลือกการทำงานแบบรีโมทหรือไฮบริดจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการดึงดูดและรักษาทาเลนต์ในปี 2024 อีกเรื่องหนึ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญคือ การสร้าง "วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง" (Strong Company Culture) เพราะการสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรและมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีความผูกพันและต้องการอยู่กับองค์กรในระยะยาว ทาเลนต์คุณภาพมักจะมองหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงค่านิยมและเป้าหมายที่ตรงกับตนเองและสะท้อนถึงความรับผิดชอบทางสังคมแบบยั่งยืน (โดยเฉพาะ Gen Z ที่เป็นแรงงานรุ่นใหม่) การทำงานแบบทีม การแบ่งปันความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การส่งเสริมความหลากหลายและการรวมกลุ่ม ความยืดหยุ่นในการทำงาน พนักงานที่มีความสุขและพึงพอใจมักจะทำงานได้ดีขึ้น และสามารถช่วยลดอัตราการเปลี่ยนงานของพนักงาน ซึ่งเป็นการประหยัดทรัพยากรและเวลาที่จะต้องใช้ในการสรรหาและฝึกฝนพนักงานใหม่ โดยเฉพาะในยุคที่การทำงานมีความยืดหยุ่นและการเชื่อมต่อทางดิจิทัลจนกลายเป็นปกติองค์กรต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆโดยเฉพาะ Gen AI รวมถึงนโยบาย Wellbeing ที่ดูแลสุขภาพกายและจิตของพนักงานไปพร้อมกัน รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานได้มีเส้นทางการเติบโตและมีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ตามต้องการ และสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กันคือการมี competitive salary ที่ผลสำรวจพบว่าเป็นปัจจัยที่ผู้สมัครงาน 94% ใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรหนึ่ง ๆ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนของตำแหน่งต่าง ๆ ได้จากการเช็คข้อมูลจาก Salary Guide และติดตามข่าวสารตลาดแรงงานอย่างใกล้ชิด
ด้านคุณไซม่อน แลนซ์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคล อเด็คโก้เอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ในปีที่ผ่านมาองค์กรทั่วภูมิภาคได้เจอกับความท้าทายหลายประการซึ่งส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์การจ้างงาน ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้สมัครงาน หลายองค์กรไม่สามารถรับผู้สมัครได้ทันทีและมีกระบวนการต่อรองเงินเดือนที่ยาวนานขึ้น การรักษา ให้ยังคงอยู่กับองค์กรจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ปัญหาต่อมาคือการขาดแคลนทาเลนต์ในระดับผู้บริหาร โดยเฉพาะผู้บริหารที่เข้าใจเทคนิคการทำงานร่วมกับคนหลากหลายวัฒนธรรม และสุดท้ายคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงทักษะสำคัญต่อการทำงานที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลให้หัวหน้างานต้องสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาทักษะให้พนักงานเก่าและการสรรหาพนักงานใหม่ที่สามารถใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีในการทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อให้ทีมยังคงทำงานร่วมกันได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ในด้านรูปแบบการทำงานพบว่าการทำงานแบบรีโมท ยังคงเป็นรูปแบบที่คนคาดหวังมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในกระบวนการสรรหาที่คนต้องการสมัครงานออนไลน์ได้ 100% ตั้งแต่การสมัครไปจนถึงการเริ่มงานวันแรก หรือความคาดหวังต่อการใช้นโยบายรีโมทต่อไป นำไปสู่การตั้งคำถามต่อนโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศอย่างฉับพลัน ซึ่งทำให้ทาเลนต์หลายคนหันมาทบทวนและพิจารณาอีกครั้งว่ายังอยากร่วมงานกับองค์กรนั้น ๆ หรือไม่
สำหรับการคาดการณ์ในปีนี้ เชื่อว่าหลายองค์กรจะมีการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องจาก digital disruption โดยเพิ่มการจ้างงานในรูปแบบ partnership & outsourcing หรือการจ้างคนและทีมงานภายนอก เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับองค์กร ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรในลักษณะนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจ career transition & outplacement ที่เชี่ยวชาญในการปรับโครงสร้างองค์กรและการเลิกจ้างเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงเชื่อว่าการแย่งชิงตัวทาเลนต์จะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตำแหน่งดิจิทัล AI และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
COMMENTS